วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โรคหอบหืดคืออะไร ควรทำอย่างไร

โรคหอบหืดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

หลอดลมของเด็กที่เป็นหอบหืดนั้น เชื่อว่ามีความไวผิดปกติต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้หลอดลมหดเกร็งตัวแคบลง เยื่อบุภายในหลอดลมบวมขึ้น และสร้างเมือกเหนียว ซึ่งจะยิ่งทำให้ช่องทางเดินอากาศในหลอดลมแคบลงอีก ทำให้เกิดอาการหอบหืดขึ้น สิ่งกระตุ้นเหล่านี้เช่น โรคหวัด ควันบุหรี่ ฝุ่น ละอองเกสร การออกกำลังกาย ขนสุนัข ขนแมว ฯลฯ

ให้ตระหนักไว้ว่า ในเด็กเล็กๆ ที่อายุ 1 - 2 ปีนั้น โรคหอบหืดมักเกิดตามหลังอาการหวัด ซึ่งเป็นการติดเชื้อไวรัส และไม่เกี่ยวกับภูมิแพ้ได้ แต่หอบหืดในเด็กวัยเรียน จะเกิดในเด็กที่มีโรคภูมิแพ้จริงๆ

โรคหอบหืดมีอาการอย่างไร ?

มักเริ่มต้นด้วยอาการ หวัด ไอ มีเสมหะ ถ้าไอมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มักจะมีเสียงวี้ดๆ ในช่วงหายใจออก เมื่อร่างกายขาดออกซิเจนมากขึ้น ก็เกิดอาการหอบมาก ปากซีดเขียว ใจสั่น บางครั้งการเกร็งตัวของหลอดลมเกิดขึ้นไม่มากนัก ทำให้คนไข้มีอาการไม่มากแต่ก็เป็นอยู่เรื่อยๆ เด็กๆ บางคนจะมีอาการไออย่างเดียว และมักจะมีอาการอาเจียนร่วมไปด้วย ซึ่งอาการไอจะดีขึ้น หลังจากที่เด็กได้อาเจียนเอาเสมหะหนียวๆ ออก

ให้สังเกตไว้ว่า การไอของเด็กเล็กๆ เช่น ไอแห้งๆ ที่ระคายเคือง ( dry irritating ) อาจเป็นอาการแสดงของโรคหอบหืดอย่างเดียว เพราะคนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องมีเสียง Wheez จึงจะเป็นหอบหืด เด็กที่แข็งแรงดีมักจะไม่ไอ ยกเว้นหวัดอย่างรุนแรง

 

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่อะไรบ้าง ?
  1. ควันบุหรี่ เป็นสิ่งที่อันตรายต่อปอดที่กำลังเจริญเติบโตของเด็ก และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืดได้
  2. ตัวไรฝุ่น ฝุ่น มักอาศัยอยู่ที่เตียงนอน หมอน พรม เฟอร์นิเจอร์ บุนวม จึงควรนำไปตาก หรือผึ่งแดดบ่อยๆ ไม่ควรมีตุ๊กตาที่มีขนในห้องนอน ไม่ใช้พรมในห้องนอน ควรเช็ดฝุ่นทุกวัน ใช้ผ้าชนิดพิเศษที่มีคุณสมบัติป้องกันตัวไรฝุ่นคลุมที่นอน หมอน ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนด้วยน้ำอุณหภูมิ 60 ? c สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใช้ที่นอนจากใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ และไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าห้องนอน
  3. ละอองเกสรในบางฤดู ควรหลีกเลี่ยงในบางฤดู และอาจเพิ่มปริมาณของยาป้องกันด้วย
  4. สัตว์เลี้ยง ไม่ควรเลี้ยงสุนัข แมวในบ้าน เพราะเด็กหอบหืดบางคนจะแพ้ขนสัตว์ ซึ่งอาจรวมถึงนกด้วย
  5. เชื้อรา ที่ชื้นๆ มักมีเชื้อรา ควรให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  6. การออกกำลังกาย ถ้าควบคุมโรคหอบหืดได้ดี จะไม่มีปัญหาในการออกกำลังกาย หรือวิ่งเล่นซึ่งควรให้เด็กได้มีกิจกรรมนี้ตามปกติ
  7. อากาศเย็น เด็กบางคนกระทบอากาศเย็น มักจะไอ หรือหายใจมีเสียงวี้ด การใช้ยาขยายหลอดลม 1 ครั้ง ก่อนเข้าห้องที่เย็นๆ จะช่วยได้

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

ตาเกิดโรคภูมิแพ้ได้ด้วย

โรคภูมิแพ้ที่ตาแบ่งได้ตามตำแหน่งที่เป็น เช่น เปลือกตา เยื่อตา กระจกตา หนังตาอักเสบ อาจเกิดจากยาหยอดตาหรือขี้ผึ้งป้ายตา เครื่องสำอาง และสารต่างๆที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม โดยเกิดอาการทันทีภายในเวลาไม่กี่นาที หรือใช้เวลาระยะหนึ่ง 24-72 ชั่วโมง ก่อนมีอาการภูมิไวเกิน ซึ่งจะมีอาการคันตา ตาแดง ตาบวม บางครั้งอาจมีปฏิกิริยาแพ้ทั้งร่างกาย ในบางรายมีเปลือกตาแดงหนาแข็ง พุพอง ผลที่ตามมาคือ ผิวหนังคล้ำ แผลเป็น และเปลือกตาล่างแบะออก อาจมีขี้ตา ผิวกระจกตาหลุดลอก

ยาที่พบร่วมกับอาการเหล่านี้ ได้แก่ ยาขยายม่านตา ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส สารกันเสียที่ผสมอยู่ในยา การดูแลรักษาจำเป็นต้องหยุดยา ประคบเย็น หยอดยาแก้แพ้ ยาลดอักเสบ ในรายที่เป็นเรื้อรังมักพบในเด็ก มักเกิดจากตัวกระตุ้นที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนอากาศ และปัจจัยทางสภาพจิตใจ ผู้ใหญ่บางรายอาจมีรอยโรคบริเวณข้อพับ ในเด็กพบบริเวณใบหน้าและส่วนนอกของข้อพับ อาจมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น หอบหืด แพ้อากาศ บริเวณหนังตาจะแห้งมีสะเก็ดเป็นแผ่น การดูแลรักษาอาจใช้โลชั่นช่วยให้ชุ่มชื้น ไม่ควรใช้ยาครีมหรือขี้ผึ้งกลุ่มสเตอรอยด์นานเพราะจะทำให้ผิวบาง จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เยื่อตาอักเสบ

สารก่อภูมิแพ้ส่วนใหญ่อยู่ในอากาศเข้าสู่น้ำตาและเยื่อตา ต่อมามีหลอดเลือดขยายตัว ตาแดง เยื่อตาบวม เปลือกตาบวม คันตา และมีขี้ตาเหนียวปนเมือก มักมีประวัติภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ และหอบหืด การทดสอบสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนัง อาจช่วยบอกสาเหตุว่าแพ้อะไร การรักษาที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ กำจัดฝุ่นและไรฝุ่นในบ้าน โดยเฉพาะผ้าปูที่นอน ใส่แว่นตากันแดด กันลม กันฝุ่น ห้ามขยี้ตาเด็ดขาด หากมีอาการคันตา ตาบวม เคืองตา การประคบเย็นจะช่วยลดอาการได้ ถ้ามีระคายเคือง ตาแห้ง ควรหยอดน้ำตาเทียมที่ไม่มีสารกันเสียบ่อยๆ เพื่อเจือจางหรือล้างสารก่อภูมิแพ้ออกจากตา สำหรับในรายที่มีอาการคันตามาก ควรหยอดยาแก้แพ้ และ/หรือ ยากลุ่มลดอาการอักเสบ อย่างไรก็ตามควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูสภาพกระจกตาด้วย เนื่องจากในรายที่มีเยื่อตาอักเสบชนิดรุนแรงอาจมีแผลที่กระจกตาด้วย